ปีแสงคืออะไร มาดูกันว่า 1 ปีแสงหมายความว่าอย่างไร

ปีแสงคืออะไร

ปีแสง (Light-year) คือหน่วยวัดของความยาวที่ใช้ในการวัดระยะทางทางดาราศาสตร์ซึ่งเป็นระยะทางที่ไกลมาก และมันมีระยะทางเป็น 9.46 ล้านล้านกิโลเมตร (9.46 x 10^12 กิโลเมตร) ปีแสงนั้นกำหนดโดยสหภาพดาราศาสตร์สากล (IAU) โดยให้คำนิยามไว้ว่า ปีแสง คือระยะทางที่แสงเดินทางในสุญญากาศในหนึ่งปีจูเลียน (365.25 วัน) เนื่องจากว่ามันมีคำว่าปี ดังนั้นในบางครั้งมันถูกตีความและเข้าใจผิดว่าเป็นหน่วยของเวลา

จากการกำหนดโดยสหภาพดาราศาสตร์สากลนั้นจะเห็นได้ว่า ปีแสงนั้นเป็นผลของการคูณระหว่าง ปีแบบจูเลียน (365.25 วัน ในขณะที่ปีแบบเกรกอเรียนนั้นมี 365.2425 วัน) กับความเร็วของแสง (299,792,458 เมตรต่อวินาที) โดยค่าต่างๆ เหล่านี้ได้ถูกเขียนไว้ในระบบของค่าคงที่ทางดาราศาสตร์ IAU (1976) ที่ใช้มาตั้งแต่ปี 1984 ดังนั้นจากสิ่งนี้เอง ทำให้ IAU ได้ใช้หน่วยย่อของปีแสงที่ใช้ในการคำนวณทางวิทยาศาตร์เป็น ly ถึงแม้ว่าจะมีมาตรฐานสากลอย่าง ISO 80000 ใช้เป็น l.y. ก็ตาม

ต่อไปมาดูการเปรียบเทียบของปีแสงกับหน่วยทางดาราศาสตร์อื่นๆ กันบ้าง

1 ปีแสง = 9,460,730,472,580,800 เมตร (ค่าที่แน่นอน)
1 ปีแสง ≈ 9.461 เพตะเมตร
1 ปีแสง ≈ 9.461 ล้านล้านกิโลเมตร
1 ปีแสง ≈ 5.878625 ล้านล้านไมล์
1 ปีแสง ≈ 63241.077 หน่วยดาราศาสตร์
1 ปีแสง ≈ 0.306601 พาร์เซก

มาเข้าใจปีแสงให้ง่ายขึ้น

จากในนิยามข้างต้นนั้น คุณอาจจะพอเข้าใจความหมายของปีแสงบ้างแล้ว แต่สำหรับคนที่ไม่ได้สนใจทางด้านวิทยาศาสตร์-ดาราศาสตร์นั้นอาจจะเป็นเรื่องยากสักหน่อย และเพื่อทำให้คุณเข้าใจมากขึ้น เราจะอธิบายปีแสงพร้อมยกตัวอย่างกับสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน

ในชีวิตประจำวันของคุณ คุณคงจะเคยนั่งรถหรือเครื่องบินไปไหนมาไหนอยู่บ่อยๆ ยกตัวอย่างเช่น หากคุณต้องนั่งเครื่องบินจากกรุงเทพไปยังเชียงใหม่ แน่นอนว่ามันประมาณ 700 กิโลเมตร แต่โดยทั่วไปแล้วถ้าหากมีคนถามว่ามันไกลไหม เรามักตอบไปว่าถ้านั่งเครื่องบินก็ประมาณ 1 ชั่วโมง แล้วถ้านั่งรถล่ะ? แน่นอนว่าถ้านั่งรถก็จะประมาณ 8 ชั่วโมง ทั้งที่คำถามถามเป็นระยะทางแต่เรากลับตอบเป็นหน่วยของเวลา เพราะการรับรู้ในแบบของเวลามันทำให้เราเข้าใจได้ง่ายขึ้นนั่นเอง

ดังนั้นเราสามารถสรุปได้ว่า ถ้าหากคุณต้องการเดินทางจากกรุงเทพไปยังเชียงใหม่ และเราสามารถบอกระยะทางได้ในผลคูณของความเร็วและเวลานั่นเอง

  • ถ้าคุณนั่งเครื่องบินมันจะใช้เวลา 1 ชั่วโมง (1 ชั่วโมงของเครื่องบิน)
  • ถ้าคุณนั่งรถมันจะใช้เวลา 8 ชั่วโมง (8 ชั่วโมงของรถยนต์)
  • แต่ถ้าหากคุณเดินมันจะใช้เวลากว่า 6 วัน (6 วันของการเดิน)

จากในตัวอย่างทั้งหมดนั้น เราใช้หลักการเช่นเดียวกันกับปีแสง โดยเราได้สร้างหน่วยใหม่ขึ้นมา เพื่อบอกว่าระยะทางจากกรุงเทพไปยังเชียงใหม่นั้นเท่าไหร่ นั่นคือ ชั่วโมงของเครื่องบิน ชั่วโมงของรถยนต์ และวันของการเดิน

ตอนนี้คุณคงเข้าใจแล้วว่าทำไมต้องมีหน่วยของปีแสงขึ้นมา เนื่องหน่วยอย่างเมตรหรือกิโลเมตรนั้นเป็นหน่วยที่มีขนาดเล็กเกินไปในการวัดระยะทางระดับจักวาล ยกตัวอย่างเช่น กาแล็กซี่ทางช้างเผือกนั้นมีขนาด 1,000,000,000,000,000,000 กิโลเมตร ถ้าบอกแบบนี้ก็ถูกเหมือนกัน แต่ว่าเราเห็นตัวเลขแล้วมันจินตนาการไม่ออกเลย ดังนั้นถ้าจะพูดใหม่ว่ากาแล็กซี่ทางช้างเผือกนั้นมีขนาด 100,000 ปีแสง อืม! ตอนนี้มันดูเข้าท่าและเข้าใจง่ายมากขึ้น เราเข้าใจได้ว่าขนาดของมันนั้นแสงจะต้องใช้เวลาถึง 100,000 ปีด้วยความเร็ว 299,792,458 เมตรต่อวินาที เพื่อที่จะผ่านพ้นกาแล็กซี่ทางช้างเผือกไปนั่นเอง

ขนาดของกาแล็กซี่ทางช้างเผือกวัดเป็นปีแสง

ซึ่งไม่ต่างอะไรกับการบอกว่าบ้านของผมอยู่ห่างจากที่ทำงาน 340,000 เซนติเมตร ถ้าคุณไปบอกแบบนี้กับใครเข้าเขาก็คงงงและคิดสักพัก ทั้งที่จริงแล้วมันคือ 3.4 กิโลเมตรนั่นแหละ ดังนั้นการใช้หน่วยที่เหมาะสมกับขนาดของระยะทางจะช่วยทำให้เราเข้าใจได้ง่ายกว่า

ข้อเท็จจริงน่ารู้เกี่ยวกับปีแสง

  • กาแล็กซี่ทางช้างเผือกของเรานั้นมีขนาด 100,000 ปีแสง
  • ดาวฤกษ์ที่อยู่ใกล้โลกมาที่สุดเป็นอันดับสองรองจากดวงอาทิตย์คือดาวพรอมินาเซ็นทอรี อยู่ห่างจากโลก 4.22 ปีแสง
  • ส่วนอันดับ 3 เป็นดาวแฝดคู่ อัลฟาเซ็นทอรี A และ B อยู่ห่างจากโลก 4.3 ปีแสง
  • ระยะทางระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์คือ 8 นาทีแสง
  • ระยะทางระหว่างดวงจันทร์กับโลกคือ 1.2 วินาทีแสง
  • ระบบสุริยะของเรามีขนาดเป็น 1 วันแสง
  • Local group ของกาแล็กซี่นั้นมีขนาดประมาณ 10 ล้านปีแสง
  • Virgo supercluster นั้นมีขนาดประมาณ 110 ล้านปีแสง
  • Laniakea supercluster นั้นมีขนาดประมาณ 520 ปีแสง
  • จักวาลของเรานั้นมีขนาดประมาณ 46.5 พันล้านปีแสง
การเปรียบเทียบระยะทางระหว่างโลกกับดวงดาวต่างๆ เป็นปีแสง

และนั่นก็เป็นทั้งหมดเกี่ยวกับปีแสงในวันนี้ ในตอนนี้คุณคงจะรู้แล้วว่าแสงคืออะไร มันเป็นหน่วยวัดสำหรับระยะทางที่ไกลมากที่ใช้กันในทางดาราศาสตร์นั่นเอง อย่างไรก็ตามยังมีหน่วยที่ใหญ่กว่านั้นอีกอย่าง พาร์เซก (parsec) แต่ไม่ได้เป็นที่นิยมใช้เหมือนกับปีแสง และถ้าหากคุณชอบและสนุกกับบทความของเรา อย่าลืมแชร์และแบ่งปันให้กับคนที่คุณรักได้อ่านเพื่อเป็นกำลังใจให้ semih ได้แบ่งปันเรื่องๆ ดีแบบนี้ต่อไป และถ้าคุณมีคำถามหรือข้อสงสัยอย่าลังเลที่จะถามเรา แล้วเจอกันใหม่บทความต่อไป